สถิติ 2023 ผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งกว่า 8 หมื่นราย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยชี้ควรเสริมภูมิคุ้มกัน

สถิติ 2023 ผู้ป่วยไข้เลือดออกพุ่งกว่า 8 หมื่นราย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยชี้ควรเสริมภูมิคุ้มกัน


    สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ออกมาเผย ตัวเลขสถิติของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย จนถึงปี 2023 สถิติที่พบมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตรวมกันมากถึง 1,237,467 คน ขณะที่สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 20236 ปีเดียว พบสถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมมากกว่า 80,000 ราย และยังมีตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6,000 ราย รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตแล้วมากถึง 81 ราย ทั้งนี้พบตัวเลข การระบาดที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี และที่สำคัญเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี สูงเกือบ 30,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด โดยปัจจุบันโรคไข้เลือดออกยังไม่มีการรักษาโรคแบบเฉพาะเจาะจง เป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น วิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกคือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อปกป้องให้ไกลห่างจากโรคด้วยการฉีดวัคซีน

    นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยถึงเหตุผลที่ครอบครัวควรตระหนักรู้ในโรคไข้เลือดออกว่า “เหตุผลที่ทุกครอบครัวควรตระหนักรู้ในโรคไข้เลือดออกมีอยู่ 3 เหตุผลหลักๆ ได้แก่ 1. โรคไข้เลือดออกไม่มีวันหายไปจากประเทศเรา เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร และภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะเป็นเมืองร้อนชื้นซึ่งทำให้มีพาหะนำโรคคือยุง ประกอบกับการที่ประเทศไทยมีอากาศที่ร้อนมากขึ้นทำให้มีการกระจายพื้นที่ของยุงเพิ่มขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมากจึงเป็นโรคติดเชื้อที่คนไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ 2. มีโอกาสเกิดอาการป่วยอย่างรุนแรงกับใครก็ได้ เพราะ โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่สามารถทำให้เด็กที่แข็งแรงดีป่วยหนักและเสียชีวิตได้ภายในไม่ถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งจากสถิติพบว่าเด็กที่เกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง มักพบได้ในเด็กช่วงวัยรุ่น เนื่องจากอาการมีความใกล้เคียงกับโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ทำให้ชะล่าใจ ไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันถ่วงที บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอย่างไม่ทันตั้งตัว 3. ไข้เลือดออกไม่มียาจำเพาะในการรักษา การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้อาการทุเลาลงเพื่อรอให้โรคหายเอง และให้สารน้ำอย่างเหมาะสมในจังหวะที่เกิดการรั่วของหลอดเลือดซึ่งเป็นช่วงสำคัญอันตรายที่นำไปสู่การช็อกและเสียชีวิต”

    สำหรับกลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออกที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากสถิติพบว่าเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีอัตราการเกิดโรคน้อยกว่า เพราะมักจะเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว แต่ในระยะหลังมีรายงานการติดเชื้อในผู้ใหญ่ที่มีอายุมากขึ้นและการติดเชื้อในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวอาจจะมีอันตรายมากได้ ที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 80 ของการติดเชื้อไข้เลือดออกจะไม่มีอาการและไม่รู้ตัวว่าตนเป็นผู้ติดเชื้อ จึงออกไปทำกิจกรรมตามปกติและเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้เมื่อยุงกัด โดยยุงนั้นนำเชื้อไปแพร่ต่อ


    กลุ่มที่ควรเฝ้าระวังและคาดว่าจะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ กลุ่มเด็กหรือวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกินหรือ ค่า BMI ในร่างกายที่สูง เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีไขมันพอกบริเวณตับ ซึ่งเชื้อไวรัสไข้เลือดออกมักทำให้ตับอักเสบ ผู้ที่น้ำหนักมากจะเกิดภาวะหายใจลำบากได้ง่าย ถ้ามีภาวะสารน้ำรั่วในเยื่อหุ้มปอด รวมถึงความลำบากในการประเมินสภาวะของร่างกายและสารน้ำในร่างกายของผู้ที่น้ำหนักเกิน ทำให้การใช้สารน้ำรักษาค่อนข้างลำบาก เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย จึงทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีอาการค่อนข้างรุนแรง

    นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มีการกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ถึงวิธีสังเกตอาการในกลุ่มเด็กที่อาจเป็นโรคไข้เลือดออก “ในกลุ่มเด็ก หากมีอาการตัวร้อน มีไข้ขึ้นสูง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บคอหรืออาการหวัด ให้สันนิษฐานว่าอาจเป็นโรคไข้เลือดออก หากเป็นไปได้ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคที่โรงพยาบาลจะดีกว่า ระยะแรกของโรคอาจจะมีเพียงไข้คล้ายกับการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน อาการ จะมากขึ้น ทั้งไข้สูง อ่อนเพลียมาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เกล็ดเลือดจะต่ำลงทำให้เกิดปัญหาเลือดออกง่าย และมีการรั่วของหลอดเลือดที่อาจนำพาไปสู่อาการช็อกและเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงควรมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังไม่แนะนำให้หายารับประทานเอง โดยเฉพาะยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) และ แอสไพริน ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่อาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารและทำให้มีอาการที่รุนแรงมากขึ้นได้”


Comments

Popular posts from this blog

SAIDUAN168